สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรียนรู้การอนุรักษ์วัฒนธรรมขนมไทยโบราณแบบ Function Food โดยการทำ “ขนมกงเสริมอัลมอนด์”  ที่ให้คุณค่าทางโภชณา ช่วยเสริมสุขภาพ สืบสานตำรับและวิธีการทำขนมไทยร่วมสมัยให้คงอยู่ต่อไป ในงาน “วันนักประดิษฐ์”  ประจําปี 2566 ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 24 ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อีเวนท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา 

 

ส่งเสริมอาหารฟังก์ชัน (Functional Food)

อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) คืออาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่มีการแยกออกมา ซึ่งไม่ได้ให้แค่คุณค่าทางโภชณาการเท่านั้น แต่มีประโยชน์อย่างอื่นด้วย โดยเฉพาะช่วยในการเสริมสุขภาพหรือเสริมสมรรถนะบางกระบวนการในร่างกาย

ขนมกง คืออะไร ?

 “ขนมกงหรือขนมกงเกวียน”  ลักษณะเป็นรูปคล้ายกับกงล้อของเกวียน เป็นขนมไทยโบราณใช้ในงานแต่งงานมีความหมายคือเพื่อให้คู่บ่าวสาวครองรักกันตลอดไป และใช้ในงานประเพณีสารทเดือนสิบ นอกจากนี้กงล้อเกวียน หมายถึง พระธรรมจักร  โดยขนมกงมีส่วนผสมคือ ถั่วเขียวคั่วน้ำตาล แป้งข้าวเหนียว และกะทิ นำส่วนผสมที่ปรุงสำเร็จแล้ว มาปั้นเป็นเส้นยาว จากนั้นทำเป็นวงกลมและภายในวงกลมจะปั้นเป็นเส้นกากบาทให้มีลักษณะคล้ายกงล้อเกวียน นำไปชุบแป้งทอดให้เป็นสีเหลืองทอง

ทำไมต้องเสริมอัลมอนด์  ?

 เมล็ดอัลมอนด์ (Almond) ได้ชื่อว่าเป็น King of Nuts ได้จากต้นอัลมอนด์ เป็นอาหารฟังก์ชัน (Functional Food) ชนิดหนึ่งที่มีสารช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างระบบคุ้มกันโรค ช่วยชะลอวัย บำรุงประสาท ป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจวาย โดยคุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดอัลมอนด์ (คิดต่อส่วนที่กินได้ 100 กรัม) จะถูกแบ่งออกเป็น พลังงานที่ได้รับ 576 กิโลแคลอรี โปรตีน 21 . 15 กรัม ไขมัน 49.93 กรัม คาร์โบไฮเดรต 21 . 55 กรัม เส้นใย 12.5 กรัม น้ำตาล 4. 35 กรัม แคลเซียม 269 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 270 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 733 มิลลิกรัม ไรอะซีน 3.61 มิลลิกรัม วิตามินอี 25.63 มิลลิกรัม ธาตุเหล็ก 3.71 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 481 มิลลิกรัม สังกะสี 3.12 มิลลิกรัม โฟเลต 44 มิลลิกรัม

(อ้างอิง : กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)

 

อนุรักษ์วัฒนธรรมขนมไทยโบราณแบบ Function Food

การอนุรักษ์วัฒนธรรมขนมไทยโบราณแบบ Function Food ขนมกงเสริมอัลมอนด์ เพื่อสนับสนุนบ่มเพาะพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน ประยุกต์และเพิ่มทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากพืชจำพวกเมล็ด สืบสานตำรับและวิธีการทำขนมไทยร่วมสมัยให้คงอยู่ต่อไป รวมถึงเมื่อมีความเชี่ยวชาญจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจของผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชั่นได้

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566 รางวัลระดับดี สาขาปรัชญา ให้กับผลงานประดิษฐ์คิดค้น เรื่อง “นวัตปะการัง : ปะการังเทียมที่มีโครงสร้างเลียนแบบธรรมชาติ ด้วยกระบวนการออกแบบชีวจำลอง” ของ รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ และคณะ แห่ง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศนใต้ท้องทะเลให้อุดมสมบูรณ์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงถูกใจสิ่งนี้

รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นว่า สมัยก่อนเป็นครูสอนดำน้ำเมื่อดำน้ำจะมองเห็นปะการังที่มีความเปลี่ยนแปลงจากมนุษย์ที่พยายามทำปะการังเทียมมาช่วยชดเชยธรรมชาติ ซึ่งรูปแบบปะการังเทียมที่เห็นส่วนใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมทำจากปูนซีเมนต์ จึงมีความรู้สึกว่าขัดตาเวลาที่ต้องดำน้ำและมองเห็น ขณะเดียวกันการทำปะการังเทียมก็ไม่ได้นำหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ ว่าทำอย่างไรให้มีการเกาะติดแบบเร็วที่สุด และดีที่สุด จึงมีความคิดที่จะทำปะการังที่วางแล้วสวยเลย เพราะปะการังเทียมส่วนใหญ่ต้องรอให้ปะการังธรรมชาติมาเกาะให้เต็มก่อนถึงจะสวย ซึ่งจะใช้เวลาหลายปีมาก แต่ถ้าทำปะการังที่มีรูปร่างเหมือนปะการังก็จะสวย และมีฟังก์ชันแบบปะการังธรรมชาติได้ทันที ก็เลยคิดและลงมือทำนวัตปะการัง : ปะการังเทียมที่มีโครงสร้างเลียนแบบธรรมชาติด้วยกระบวนการออกแบบชีวจำลอง โดยเริ่มศึกษาจากปะการังธรรมชาติ ว่ามีฟังชั่นยังไรบ้าง จนได้ปะการังเขากวาง เพราะมีลักษณะการเรียงตัวเป็นธรรมชาติ ซึ่งจะสามารถชะลอกระแสน้ำ และจะนำตัวอ่อนของปะการังธรรมชาติให้เกาะได้ทนขึ้นกว่าการที่วางไว้เฉย ๆ ให้น้ำพัดผ่านไป แต่ก็ยังพบปัญหาเพราะการที่เอาปะการังเทียมไปวางเป็นปูนหนักมาก เวลานำไปวางต้องใช้เครน จึงคิดว่าควรทำเป็นก้อนเล็ก ๆ 3 ก้อน โดยเจาะรูใส่กิ่งปะการังเข้าไป เพื่อจะได้ประกอบในน้ำได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่แตกต่างจากปะการังเทียมทั่วไป คือ 1. รูปลักษณ์ภายนอกกลมกลืนกับธรรมชาติ 2. ประสิทธิภาพในการเพิ่มพื้นที่ผิวของนวัตปะการังจะมีมากกว่าที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมเดิมกว่า 10 เท่า 3. เวลาที่ใช้ในการที่ปะการังแท้จะมาเกาะติดและเติบโตเร็วกว่าเดิม และ 4. สถานีนี้สามารถทำเป็นสถานีงานวิจัยอื่น ๆ ต่อไปได้ อาทิ สถานีวัดน้ำ หรือติดกล้องไว้ดูแนวปะการังได้ ฯลฯ ความแตกต่างคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ ซ่อมเสริมธรรมชาติโดยให้กลมกลืนกับธรรมชาติ “นวัตปะการัง” ได้นำลงไปวางในหลายพื้นที่หมู่เกาะแสมสาร จังหวัด และจังหวัดภูเก็ต

การต่อยอดของนวัตปะการังสามารถนำไปต่อยอดได้อีกหลายรูปแบบ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบสำหรับปะการังเทียมในอนาคต แนวปะการังเทียมเพื่อการท่องเที่ยวทดแทนแนวปะการังจริง พื้นที่สำหรับการฝึก
ดำน้ำ แหล่งศึกษาวิจัยระบบนิเวศแนวปะการัง แหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำเพื่อส่งเสริมพื้นที่สำหรับการประมง เพิ่มโอกาสในการเกิดอาชีพใหม่ สามารถสร้างรายได้ ทำให้เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้นด้วย

ผู้ประดิษฐ์จะเข้ารับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2566 และจัดแสดงผลงานในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร สอบถามรายละเอียดได้ 02-561-2445 ต่อ 508

เนื้อหาที่เปิดอ่าน
798227
904337
วันนี้
เมื่อวานนี้
สัปดาห์นี้
สัปดาห์ที่แล้ว
เดือนนี้
เดือนที่แล้ว
ทั้งหมด
759
1151
6686
884505
19832
41711
904337